Manufacturing Simulation

1690 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Manufacturing Simulation

ในทุกวันนี้เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก โดยการพัฒนานี้จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่แต่ละแบรนด์นำเสนอออกมาสู่ท้องตลาดจะต้องมีความน่าสนใจ โดดเด่นและแตกต่างจาก แบรนด์ของคู่แข่ง ซึ่งความท้าทายที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตนี้จะส่งผลให้การออกแบบผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้กระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นไปอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาอาจจะมีความบกพร่องหรือมีคุณสมบัติที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีการฉีดพลาสติกมีคุณสมบัติความแข็งแรงไม่ตรงตามที่ออกแบบไว้อันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์นั้นเกิดโพรงอากาศขึ้นภายในผลิตภัณฑ์อันเนื่องมาจากการออกแบบที่ยังไม่ดีเพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วยเหตุนี้อาจนำมาสู่การสูญเสียชื่อเสียงของบริษัทผู้ผลิตหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆสูญเสียความน่าเชื่อถือ

ด้วยเหตุนี้เองกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญอย่างมากในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้นๆเพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องและมีคุณสมบัติตรงตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในจำลองกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมจึงเข้ามามีบทบาทในการจำลองและวิเคราะห์กระบวนการขึ้นรูปด้วยกรรมวิธีต่างๆว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความบกพร่องหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยซอฟต์แวร์เหล่านี้จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตมีคุณภาพ (Quality) ที่สูงขึ้นอีกทั้งยังช่วยให้ผลิตภาพ (Productivity) ในโรงงานอุตสาหกรรมสูงขึ้นอีกด้วย

บริษัท ไอเอสไอดี เซ้าท์อีส เอเชีย (ไทยแลนด์) ขอแนะนำซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับจำลองกระบวนการผลิตที่หลากหลายและเหมาะสมที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. Inspire Cast เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการจำลองกระบวนการหล่อโลหะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งซอฟต์แวร์นี้สามารถจำลองกรรมวิธีการหล่อโลหะได้ครอบคลุมและหลากหลายไม่ว่าจะเป็น กรรมวิธีแบบ High Pressure Die Casting กรรมวิธีแบบ Low Pressure Die Casting และอื่นๆ ซอฟต์แวร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถออกแบบขนาดและตำแหน่งของการไหลของน้ำโลหะเข้าสู่แม่พิมพ์หรืออินเกต (Ingate) ของแม่พิมพ์ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบการไหล ความเร็วในการไหล และอุณหภูมิของน้ำโลหะภายในแม่พิมพ์ ช่วยให้ผู้ใช้งานทราบได้ว่าตำแหน่งที่เกิดรอยเชื่อมประสาน (Weld Lines) จะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใด สามารถตรวจสอบโพรงอากาศที่เกิดขึ้น (Air Trap) ภายในผลิตภัณฑ์จากการหล่อโลหะ และซอฟต์แวร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานตรวจสอบการแข็งตัวของโลหะได้อีกด้วย


2. Inspire Mold เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการจำลองกระบวนการฉีดพลาสติก ซอฟต์แวร์นี้สามารถจำลองกระบวนการไหลของน้ำพลาสติกภายในแม่พิมพ์ (Filling Simulation) กระบวนการอัดความดันของน้ำพลาสติกภายในแม่พิมพ์ (Packing Simulation) กระบวนการหล่อเย็นของพลาสติก (Cooling Simulation) และกระบวนการหดตัวของพลาสติก (Warpage Simulation) ซอฟต์แวร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบการไหล ความเร็วในการไหล และอุณหภูมิของน้ำพลาสติกภายในแม่พิมพ์ ช่วยให้ผู้ใช้งานทราบได้ว่าตำแหน่งที่เกิดรอยเชื่อมประสาน (Weld Lines) จะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใด และสามารถตรวจสอบโพรงอากาศที่เกิดขึ้น (Air Trap) ภายในผลิตภัณฑ์จากการฉีดพลาสติก สามารถตรวจสอบการเกิดรอยยุบของพลาสติก (Sink Mark) ในขั้นตอนการอัดความดันของน้ำพลาสติก การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของพลาสติกในขณะทำการหล่อเย็น อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการโก่งงอของพลาสติกได้อีกด้วย


3. Inspire Form เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการจำลองกระบวนการปั๊มโลหะ ซอฟต์แวร์นี้สามารถวิเคราะห์ความสามารถในการขึ้นรูปของผลิตภัณฑ์ด้วยกรรมวิธีปั๊มโลหะ (Feasibility) และยังสามารถวิเคราะห์ลำดับการขึ้นรูปในแต่ละกระบวนการผลิต (Tryout) อีกทั้งยังสามารถช่วยผู้ใช้งานออกแบบแผ่นโลหะที่นำมาใช้ในกระบวนการตั้งต้นสำหรับงานปั๊ม (Blank) ได้อีกด้วย ซอฟต์แวร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบการเกิดความบกพร่องของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิต เช่น การฉีกขาด (Split) การย่น (Wrinkle) เป็นต้น รวมถึงสามารถตรวจสอบการดีดตัวกลับของวัสดุ (Spring back) ได้อีกด้วย

จากตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่ใช้จำลองกระบวนการผลิตข้างต้นจะเห็นว่าเทคโนโลยี Manufacturing Simulation สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานหรือโรงงานสามารถพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้ตรงตามที่ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ออกแบบไว้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนการผลิตที่เกิดจากความบกพร่องของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราควรนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต แล้วโรงงานของท่านล่ะเหมาะสมกับซอฟต์แวร์ตัวไหน

บทความโดย
ธีระทัศน์ เรืองชัยณรงค์
Senior Application Engineer
ISID South East Asia (Thailand) Co.,Ltd

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้